มาว่ากันในเรื่องของการบวช หลายคนบวชเพื่อเหตุผลต่างๆ แต่การบวชนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่าบวชแล้วจะได้บุญ การบวช หรือการบรรพชานั้น แม้บวชไปแล้วจะไม่ได้เล่าเรียน แม้บวชไปแล้วจะไม่ได้ศึกษาพระธรรม แม้บวชไปแล้วจะไม่ได้อะไรติดตัวไปเลย แต่อย่างน้อยผู้บวชก็จะได้ความดีและความยินดีที่ได้บวช ติดตัวกลัวไปแน่แท้

กับคำถามที่หลายคนสงสัยว่า บวชแล้วทำไมไม่ดีขึ้นเลย ต้องกลับไปถามก่อนว่า บวชแล้วได้บุญกันไหม กับคำและความหมายของการบวช หรือบรรพชานั้น ก็หมายถึง การเว้นทั่ว เว้นทั่วจากอะไร ก็เว้นทั่วจากกิเลสทั้งปวง ซึ่งจุดประสงค์ในการบวชที่ถูกต้อง คือเพื่อสละ ละกิเลสด้วยประการทั้งปวง ไม่ใช่เพราะประเพณี หรือเหตุจำเป็นต่างๆ

การบวช เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษของการครองเรือน จึงสละทุกสิ่งด้วยความเป็นอัธยาศัยที่สะสมมา จึงสละทุกอย่างและอบรมปัญญาเพียงอย่างเดียว เพื่อพ้นจากทุกข์ ดังนั้นพระพุทธเจ้าทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า หากว่ามีใครถามเธอว่า เธอบวชเพื่ออะไร เธอจึงตอบเขาว่า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์

รู้ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่ปรากฎตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา และเป็นไปเพื่อละคลายกิเลสทั้งหมด ดังนั้นการบวชเป็นเพศบรรพชิต จึงต้องมีความจริงใจที่จะบวชเพื่อสละและ ละจากกิเลสจนหมดสิ้นแล้ว จึงสละทุกสิ่งไม่เป็นดังเช่นคฤหัสถ์อีกแล้ว การบวชจึงไม่ใช่เพื่อตามประเพณีให้ผู้อื่นได้บุญ หรือว่าการบวชจะเป็นการทดแทนคุณ บิดา มารดา นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ที่ถูกต้องในการบวช

บวชอย่างไร ให้ได้บุญ

ประเด็นเรื่องการให้ผู้อื่นบวชแล้วตัวเองจะได้บุญ

บุญ คือสภาพธรรมที่ดีงาม อันเป็นเครื่องชำระล้างสันดานจากกิเลส ดังนั้นขณะที่เป็นบุญ คือ ขณะที่ให้ทาน รักษาศีล เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนา ดังนั้นบุญจึงเป็นสภาพจิตของเฉพาะตน ไม่มีใครโอนถ่ายบุญให้กับใครได้ ไม่มีการที่อีกคนหนึ่งทำกุศล แล้วอีกคนจะได้กุศล หากแต่ว่าจะเป็นกุศล เป็นบุญก็ที่ใจของแต่ละคนที่เกิดกุศลจิตในขณะนั้นหรือไม่ เช่น เห็นผู้อื่นทำความดี เกิดความยินดีในกุศลของผู้อื่น การยินดีและอนุโมทนาในกุศลของผู้อื่น ก็จะเป็นบุญของผู้นั้นทันที

การบวชเพื่อยกบุญ ไม่มีใครได้บุญเพราะผู้อื่นบวชให้ กุศลของใครก็ของคนนั้น ยกตัวอย่างเช่น ไม่ใช่ว่าเมื่อลูกบวชแล้วผู้เป็นบิดา หรือมารดาจะได้บุญ เพราะต้องไม่ลืมว่าบุญคือสภาพจิตที่ดีงาม บุญของใครก็ของคนนั้น จิตของใครก็ของคนนั้น หากลูกบวชแต่ไม่ได้ทำกุศลประการใดเลยจะบอกว่าเป็นบุญไม่ได้ และหากผู้ที่บวชประพฤติไม่ดี ผู้เป็นบิดา มารดา ก็ต้องบาปด้วยใช่ไหม คำตอบก็คือไม่ใช่อีก เพราะบาปของใครก็ของคนนั้น

โดยนัยตรงกันข้าม ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อลูกบวช บิดา มารดานึกถึงตอนที่ลูกบวชด้วยความยินดีที่เป็นโลภะได้ขณะนั้น แทนที่จะเป็นบุญ ก็เป็นอกุศลแทนอีก ไม่ใช่บุญแล้ว แต่เมื่อลูกบวช บิดามารดาเกิดความยินดีในกุศลที่ลูกพึงจะกระทำต่อไป และการยินดีแล้วอนุโมทนาในกุศลของลูก ก็จะเป็นบุญของผู้นั้นทันทีเช่นกัน

ทุกอย่างจึงสำคัญที่ใจของตนเอง ว่าจะเป็นบุญ หรือไม่เป็นบุญ ไม่ได้อยู่ที่คนอื่นที่จะให้บุญเราได้ เพราะบุญก็คือใจที่ดีของแต่ละคนที่เกิดขึ้น